ความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking

ความคิดสร้างสรรค์

ความหมายของความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกตัวคน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป สำหรับความหมายของความคิดสร้างสรรค์นั้นได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายทัศนะ เช่น
หน่วยศึกษานิเทศน์ กรมการฝึกหัดครู (2523) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะการคิดแบบอเนกนัยหรือความคิดหลายทิศหลายทางที่นำไปสู่กระบวนการคิดประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ รวมทั้งการคิดและการค้นพบวิธีการแก้ปัญหาใหม่ตลอดจนความสำเร็จในด้านการคิดค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม
อารี รังสินันท์ (2527) ให้ความหมายความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่า ความคิดสร้างสรรค์คือ ความคิดจินตนาการประยุกต์ที่สามารถนำไปสู่สิ่งประดิษฐ์คิดค้นพบใหม่ ๆทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความคิดในลักษณะที่คนอื่นคาดไม่ถึงหรือมองข้าม เป็นความคิดหลากหลาย คิดได้กว้างไกลเน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ อาจเกิดจากการคิดผสมผสานเชื่อมโยงระหว่างความคิดใหม่ ๆที่แก้ปัญหาและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
Guilford (1959) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถทางสมอง เป็นความสามารถที่จะคิดได้หลายทิศหลายทาง หรือแบบอเนกนัยและความคิดสร้างสรรค์นี้ประกอบด้วยความคล่องในการคิด ความคิดยืดหยุ่นและความคิดที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ คนที่มีลักษณะดังกล่าวจะต้องเป็นคนกล้าคิดไม่กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีอิสระในการคิดด้วย
Anderson (1970) ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า คือความสามารถของบุคคลในการคิดแก้ปัญหาด้วยการคิดอย่างลึกซึ้งที่นอกเหนือไปจากการคิดอย่างปกติธรรมดา เป็นลักษณะภายในตัวบุคคลที่สามารถจะคิดได้หลายแง่หลายมุมผสมผสานจนได้ผลิตผลใหม่ที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่า
จากนิยามความหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์หมายถึงความสามารถของบุคคลในการคิดหลายแง่หลายมุมที่เรียนกว่าความคิดอเนกนัย( Divergent Thinking) ซึ่งเกิดจาการเชื่อมโยงสิ่งที่ดี ความสัมพันธ์กันโดยมีสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความคิดแปลกใหม่ที่ต่อเนื่องกันไป สามารถนำไปแก้ปัญหาและประยุกต์ใช้สถานการณ์ต่าง ๆได้

ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์
Davis (1983) ได้รวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของนักจิตวิทยาที่ได้กล่าวถึงทฤษฎีของความคิดสร้างสรรค์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆได้ 4 กลุ่ม คือ
1. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ นักจิตวิทยาทางจิตวิเคราะห์หลายคนเช่น Freud และ Kris ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเกิดความคิดสร้างสรรค์ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในจิตใต้สำนึกระหว่างแรงขับทางเพศ (Libido) กับความรู้สึกผิดชอบทางสังคม (Social Conscience) ส่วน Kubie และ Rugg ซึ่งเป็นนักจิตวิเคราะห์แนวใหม่กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นระหว่างการรู้สติกับจิตใต้สำนึกซึ่งอยู่ในขอบเขตของจิตส่วนที่เรียกว่าจิตก่อนสำนึก
2. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดการเรียนรู้ โดยเน้นที่ความสำคัญของการเสริมแรงการตอบสนองที่ถูกต้องกับสิ่งเร้าเฉพาะหรือสถานการณ์ นอกจากนี้ยังได้เน้นความสัมพันธ์ทางปัญญา คือการโยงความสัมพันธ์จากสิ่งเร้าหนึ่งไปยังสิ่งต่าง ๆทำให้เกิดความคิดใหม่หรือสิ่งใหม่เกิดขึ้น
3. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงมานุษยนิยม นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้มีแนวคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มนุษย์มีติดตัวมาแต่กำเนิด ผู้ที่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ออกมาใช้ได้คือผู้ที่มีสัจจการแห่งตน คือ รู้จักตนเอง พอใจตนเองและใช้ตนเองเต็มตามศักยภาพของตน มนุษย์จะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนออกมาได้อย่างเต็มที่นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างสภาวะหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ได้กล่าวถึงบรรยากาศที่สำคัญในการสร้างสรรค์ว่าประกอบด้วยความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ความมั่นคงของจิตใจ ความปราถนาที่จะเล่นกับความคิดและการเปิดกว้างที่จะรับประสบการณ์ใหม่
4. ทฤษฎี AUTA ทฤษีนี้เป็นรูปแบบของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล โดยมีแนวคิดว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามรูปแบบ AUTA ประกอบด้วย
4.1 การตระหนัก (Awareness) คือ ตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ที่มีต่อตนเอง สังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคตและตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตนเองด้วย
4.2 ความเข้าใจ (Understanding) คือ มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
4.3 เทคนิควิธี (Techniques) คือ การรู้เทคนิควิธีในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทั้งที่เป็นเทคนิคส่วนบุคคลและเทคนิคที่เป็นมาตรฐาน
4.4 การตระหนักในความจริงของสิ่งต่าง ๆ (Actualization) คือ การรู้จักหรือตระหนักในตนเอง พอใจในตนเองและพยายามใช้ตนเองอย่างเต็มศักยภาพรวมทั้งการเปิดกว้างรับประสบการณ์ต่าง ๆโดยมีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม การตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การผลิตผลงานด้วยตนเองและการมีความคิดที่ยืดหยุ่นเข้ากับทุกรูปแบบของชีวิต

จากทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว จะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่มีอยู่ในบุคคลทุกคน และสามารถที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นได้โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้และการจัด
กิจกรรมการเรียนการสอนในบรรยากาศที่เอื้ออำนวยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ลักษณะของความคิดสร้างสรรค์
บรรพต พรประเสริฐ; 2538 ได้จำแนกองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ว่ามีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ
1. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency)
2. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility)
3. ความคิดริเริ่ม(Originality)
ความคิดสร้างสรรค์มีลักษณะที่แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะได้แก่
ลักษณะที่ 1 เป็นกระบวนการคิดสามารถแตกความคิดเดิมไปสู่ความคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับใคร
ลักษณะที่ 2 เป็นลักษณะของบุคคลที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองเกิดความรู้สึกพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง และ
ลักษณะที่ 3 เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดแปลกใหม่ที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น โดยที่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ได้ กับให้ผู้อื่นยอมรับว่ามีประโยชน์เป็นของแปลกใหม่ ตลอดจนสามารถวัดและประเมินผลของคุณค่าผลผลิตได้
กิลฟอร์ด (Guilford) เสนอความคิดว่า ความสามารถทางสมองซึ่งเกิดจาการปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์ประกอบ 3 มิติ (Three Dimensional Model) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
มิติที่ 1 ด้านเนื้อหา (Contents) หมายถึงวัตถุ/ข้อมูลต่าง ๆที่รับรู้และใช้เป็นสื่อให้เกิดความคิด มีอยู่ 5 ชนิด คือ เนื้อหาที่เป็นรูปภาพ (Figural contents) เนื้อหาที่เป็นเสียง (Auditory contents) เนื้อหาที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbolic Contents) เนื้อหาที่เป็นภาษา (Semantic Contents) และเนื้อหาที่เป็นพฤติกรรม (Behavior Contents)
มิติที่ 2 ด้านปฏิบัติการ (Operation)หมายถึงวิธีการ/กระบวนการคิดต่าง ๆที่สร้างขึ้นมา ประกอบด้วยความสามารถ 5 ชนิด คือ การรับรู้และการเข้าใจ(Cognition) การจำ (Memory) การคิดแบบอเนกมัย(Divergent thinking) และการประเมินค่า(Evaluation)
มิติที่ 3 ด้านผลผลิต (Products) หมายถึงความสามารถที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานมิติด้านเนื้อหาและด้านปฏิบัติการเข้าด้วยกัน เป็นผลผลิตที่เกิดจากการรับรู้ วัตถุ/ข้อมูล แล้วเกิดวิธีการคิด/กระบวนการคิด ซึ่งทำให้เกิดผลของการผสมผสานในรูปแบบ 6 ชนิด คือ หน่วย (Units) จำพวก (classes) ความสัมพันธ์ (Relations) ระบบ (System) การแปลงรูป (Transformation) และการประยุกต์ (Implication)

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
เทตนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์นั้น ครูควรที่จะนำเทคนิควิธีการต่าง ๆมากระตุ้นให้เกิดนิสัยและเจตคติในทางสร้างสรรค์แก่ผู้เรียน ด้วยการหาแนวทางที่จะส่งเสริมความคิดให้แก่ผู้เรียนได้
Davis (1983) ได้รวบรวมแนวความคิดของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาที่กล่าวถึงเทคนิคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ในการฝึกฝนบุคคลทั่วไปให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น เทคนิคเหล่านี้ได้แก่
1. การระดมพลังสมอง (Brainstorming) โดย Alex Csborn เป็นผู้ทีคิดเทคนิคนี้ขึ้น โดยหลักการสำคัญของการระดมพลังสมองคือ การให้โอกาสคิดอย่างอิสระที่สุดโดยเลื่อนการประเมินความคิดออกไปไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในระหว่างที่มีการคิดการวิจารณ์หรือการประเมินผลใด ๆก็ตามที่เกิดขึ้นระหว่างการคิด จะเป็นสิ่งขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ จุดประสงค์ของการระดมพลังสมองก็เพื่อจะนำไปสู่การที่สามารถแก้ปัญหาได้
2. Attribute Listing ผู้สร้างเทคนิคนี้คือ Robert Crawford เทคนิคนี้มีลักษณะเป็นการสร้างแนวคิดใหม่โดยอาศัยแนวคิดเดิม วิธีการใช้แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
1.1 Attribute modifying คือการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการของแนวคิดหรือผลงานเดิม เช่น ในการตกแต่งห้องทำงานอาจกระทำโดยแยกแยะองค์ประกอบของห้องนั้นออกเป็นส่วน ๆเช่น สี พื้น ผนังห้อง แล้วปรับเปลี่ยนแต่ละส่วนเมื่อนำมารวมกันก็จะได้รูปแบบของห้องในแนวใหม่เกิดขึ้นมากมาย
1.2 Attribute transferring คือการถ่ายโยงลักษณะบางประการจากสถานการณ์หนึ่งมาใช้กับอีกสถานการณ์หนึ่ง เช่น การถ่ายโยงลักษณะงาน คาร์นิวัลมาใช้เป็นแนวคิดในการจัดงานปีใหม่ของโรงเรียน เป็นต้น
3. Morphological Synthesis เป็นเทคนิคที่ใช้ในการสร้างความคิดสร้างความคิดใหม่ ๆ โดยวิธีแยกแยะองค์ประกอบของความคิดหรือปัญหาให้องค์ประกอบหนึ่งอยู่บนแกนตั้งของตารางซึ่งเรียกว่าตาราง Matrix และอีกองค์ประกอบหนึ่งอยู่บนแกนนอน เมื่อองค์ประกอบบนแกนตั้งมาสัมพันธ์กับองค์ประกอบบนแกนนอนในช่วงตารางก็จะเกิดความคิดใหม่ขึ้น
4. Idea Checklist เป็นเทคนิคที่ใช้ในการค้นหาความคิดหรือแนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยรายการตรวจสอบความคิดที่มีผู้ทำไว้แล้ว
5. Synectics Methods คิดค้นขึ้นโดย William J.J.Cordon โดยการสร้างความคุ้นเคยที่แปลกใหม่และความแปลกใหม่ที่เป็นที่คุ้นเคยจากนั้นจึงสรุปเป็นแนวคิดใหม่กระบวนการของการคิดเป็น Cordon นี้มี 4 ประการ คือ
5.1 การสร้างจินตนาการขึ้นในจิตใจของเราหรือการพิจารณาความคิดใหม่
5.2 การประยุกต์เอาความรู้ในสาขาวิชาหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแก่ปัญหา ที่เกิดขึ้น
5.3 การประยุกต์ใช้การเปรียบเทียบหรืออุปมาในการแก้ปัญหา
5.4 การประยุกต์เอาความคิดใด ๆก็ตามที่เกิดจากจินตนาการมาใช้ แก้ปัญหา
จากแนวคิดเกี่ยวกับการนำเทคนิคการสอนเพื่อช่วยให้เกิดพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถสอนกันได้ แต่อย่างไรก็ตามความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีภาวะที่เป็นอิสระสำหรับการคิด ดังที่ Rogers (1970) กล่าวว่า ภาวะที่ส่งเสริมให้บุคคลกล้าคิดอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ ภาวะที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีความปลอดภัยทางจิต มีค่าได้รับการยอมรับรวมทั้งภาวะที่มีเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกประเมิน

พัฒนาการของความคิดสร้างสรรค์
ลักษณะพัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะมีแบบแผนที่แตกต่างกันไปจากพัฒนาการด้านต่าง ๆซึ่งสามารถพัฒนาได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่ และจากแนวคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมให้พัฒนาได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงพัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้เจริญต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่ต่อไป Torrance (1962) ได้สรุปลักษณะพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์จาการศึกษาของ Ligon ไว้ดังนี้

เด็กวัยทารก – วัยก่อนเรียน (อายุ 0 – 6 ปี)
ในช่วงอายุ 0 – 2 ปี เด็กเริ่มพัฒนาการจินตนาการ ในช่วงขวบแรกเด็กต้องการรู้เรื่องต่าง ๆพยายามเลียนแบบเสียงและจังหวะ เมื่ออายุ 2 ขวบเด็กต้องการให้มีอะไรพิเศษเกิดขึ้น เด็กกระตือรือร้นที่จะได้สัมผัส ชิม และดูทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น แต่วิธีการแสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคน
อายุ 2 – 4 ปี เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับโลกโดยประสบการณ์ตรงและกระทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆโดยการเล่นที่ใช้จินตนาการ เด็กตื่นตัวกับสิ่งแปลกใหม่ตามธรรมชาติ ช่วงความสนใจของเด็กจะสั้น โดยเปลี่ยนจากการเล่นอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่งเสมอ เด็กเริ่มพัฒนาความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง เด็กวัยนี้มักทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธและคับข้องใจ
อายุ 4 – 6 ปี เด็กเริ่มสนุกสนานกับการวางแผน การเล่น การทำงาน เด็กเรียนรู้บทบาทของผู้ใหญ่โดยการเล่นสมมุติ มีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งที่เป็นจริงและถูกต้อง เด็กสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆแม้ว่าจะไม่เข้าใจเหตุผลนักเด็กทดลองเล่นบทบาทต่าง ๆโดยใช้จินตนาการของ
เด็กเอง ลักษณะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กวัยนี้ค่อนข้างจะเป็นธรรมชาติที่ปรากฏชัด

เด็กวัยเรียน (อายุระหว่าง 6 – 12 ปี)
อายุ 6 – 8 ปี จินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กเปลี่ยนไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้น เขาพยายามที่จะบรรยายออกมาแม้ในขณะที่เขาเล่น เด็กวัยนี้รักการเรียนรู้มากดังนั้นการจัดประสบการณ์ที่ท้าทายและสนุกสนานให้เด็กวัยนี้ย่อมพัฒนาความอยากรู้อยากเห็นให้แก่เด็ก
อายุ 8 – 10 ปี เด็กใช้ทักษะหลายด้านในการสร้างสรรค์และสามารถค้นพบวิธีที่จะใช้ความสามารถเฉพาะตัวของเขาสร้างสรรค์ เด็กมักจะเปรียบเทียบตนเองกับคนที่น่ายกย่องซึ่งสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ความสามารถในการถามและความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเพิ่มยิ่งขึ้น
อายุ 10 – 12 ปี เด็กชอบการสำรวจค้นคว้า เด็กผู้หญิงชอบอ่านหนังสือและเล่นสมมุติ เด็กชายชอบเรียนจากประสบการณ์ตรง ช่วงเวลาของความสนใจจะนานขึ้นความสามารถทางศิลปะและดนตรีจะพัฒนาได้เร็ว เด็กจะชอบทดลองทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประสบการณ์แต่มักขาดความมั่นใจในผลงานของตนเอง
เด็กวัยนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์บางช่วง ซึ่งอาจเป็นผลจากการเข้าสู่ระบบโรงเรียน
เด็กต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขาดโอกาสแสดงความคิดเห็น (Torrance,1968)

3 ความคิดเห็น: